วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

 อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำนาแบบดังเดิม

มีดังต่อไปนี้




 คันไถ หรือ ไถ

ชื่อเครื่องมือ:คันไถ หรือ ไถ  
ชื่อท้องถิ่น:-  
ลักษณะของเครื่องมือ:       ไถ เป็นเครื่องมือที่ใช้ควายหรือวัวลากเพื่อพลิกหน้าดิน มีรูปร่างโค้งสูงเสมอเข่า ไถแต่ละท้องถิ่นอาจมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งไถที่ใช้กันทั่วไปจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ ไถเดี่ยว (ใช้ควายไถตัวเดียว) และ ไถคู่ (ใช้วัวไถ 2 ตัว) โดยส่วนประกอบหลักของไถประกอบด้วย
  • คันไถ ทำจากไม้เนื้อแข็ง เป็นส่วนที่เป็นมือจับของไถ ใช้บังคับไถ มีลักษณะโค้งงอ รูปร่างและขนาดพอเหมาะแก่การจับถือและบังคับ มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามความนิยมของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น
  • หางยาม เป็นส่วนที่เสียบลงบนหัวหมู มีลักษณะโค้งงอ ใช้ประโยชน์ในการบังคับไถให้ทรงตัวหรือเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการ
  • หัวหมู คือส่วนฐานของไถตอนหน้า มีรูปร่างคล้ายหัวหมู ช่องกลางเจาะรูสำหรับเสียบคันไถ โดยใช้ลิ่มไม้ตอกอัดไว้ ใช้ในการแทงดินให้เป็นร่องพลิกดินขึ้นมาเป็นขี้ไถ
  • แอก เป็นไม้ที่วางบนคอวัวหรือควาย มีขนาดโตราวท่อนแขน เจาะรูกึ่งกลางเพื่อร้อยเชือก ปลายทั้งสองข้างควั่นรอยลึกสำหรับผูกเชือก ให้ควายหรือวัวดึงไถไปข้างหน้า
การใช้ประโยชน์:การเตรียมดิน  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ใช้สำหรับไถพรวนดิน พลิกหน้าดินเพื่อเป็นการตากดิน และทำลายวัชพืชต่างๆ ซึ่งเป็นการเตรียมดินของชาวนาก่อนที่จะทำการหว่านกล้าหรือดำนา โดยวิธีการไถจะใช้วัวหรือควายเป็นตัวลากไถไปตามพื้นที่ที่ต้องการ




   แอก
ชื่อเครื่องมือ:แอก  
ชื่อท้องถิ่น:-  
ลักษณะของเครื่องมือ:      แอก เป็นเครื่องมือที่ทำมาจากท่อนไม้เนื้อแข็ง ที่มีความโค้งงอ แอกมี 2 ประเภท คือแอกวัวควายเดี่ยว กับแอกวัวควายคู่ แอกประกอบด้วยแม่แอก (ไม้คาน) และลูกแอก (ไม้หนีบคอวัว ควาย) แอกจะมีรูบนตัวแอกข้างละ 2 รู เพื่อใส่ไม้เหลากลมข้างละ 2 ซี่ สำหรับครอบลงบนคอควายหรือวัว  
การใช้ประโยชน์:การเตรียมดิน  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      แอก ใช้ในการสวมคอวัวหรือควายเพื่อลากไถ คราด หรือเกวียน ซึ่งจะสามารถกำหนดทิศทางเดินของวัว หรือควายไม่ให้ออกนอกเส้นทาง และไปในทิศทางที่เราต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นคันแรงที่วัว หรือควายจะลากไถหรือคราด แอกสามารถใช้งานได้ ประมาณ 5-10 ปี




 คราด

ชื่อเครื่องมือ:คราด  
ชื่อท้องถิ่น:เฝือ  
ลักษณะของเครื่องมือ:      คราด มีรูปทรงสี่เหลี่ยม มีซี่คล้ายๆ หวี ทำจากไม้เนื้อแข็ง ขนาดของคราดจะขึ้นอยู่กับพาหนะในการลาก หากใช้กับวัวก็จะมีขนาดเล็กกว่าควาย คราดประกอบด้วย
  • แม่คราด ทำจากไม้เนื้อแข็งมีความหนาประมาณ 2-4 นิ้วหน้ากว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-4 เมตร แม่คราดจะเจาะรูไว้สำหรับตอกลูกคราดและมือคราด
  • ลูกคราด ที่มีลักษณะปลายแหลมเป็นซี่ๆ เหมือนหวี ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้ตอกลงไปที่แม่คราดให้แน่น
  • มือคราด คือ ส่วนที่จับถือคราด ใช้ตอกลงไปที่รูของแม่คราดที่เตรียมไว้ให้แน่นเพื่อใช้เป็นที่จับเวลาลาก
  • คันคราด เป็นส่วนที่ยาวออกไปด้านหน้าต่อจากแม่คราดเพื่อให้วัวหรือควายลาก
การใช้ประโยชน์:การเตรียมดิน  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      คราด เป็นเครื่องมือสำหรับคราดผิวดินในนาที่ผ่านการไถเรียบร้อยแล้ว เพื่อกำจัดหญ้า วัชพืชต่างๆออกจากดินและย่อยดิน ปรับดินให้เรียบสม่ำเสมอกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนในการเตรียมดินก่อน หว่าน หรือปักดำข้าว โดยใช้วัวหรือควายลากคราดในพื้นที่ที่ต้องการแล้วใช้แรงกดคราดลงไปในดิน ลูกคราดก็จะทำหน้าที่ครูดดินและวัชพืชต่างๆ ถ้าหากต้องการให้คราดครูดดินลึกก็ให้ใช้มือกดหรือเท้าเหยียบที่แม่คราดแล้วกดลงตามที่ต้องการได้





     ขุบ


ชื่อเครื่องมือ:ขุบ  
ชื่อท้องถิ่น:อีทุบ  
ลักษณะของเครื่องมือ:      ขุบ ทำมาจากท่อนไม้เนื้อแข็ง ที่มีขนาดความยาวประมาณ 2 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 เซนติเมตร การทำจะใช้ขวานถาก ไม้ให้เป็นเฟือง 7 เฟือง ที่ปลายท่อนขุบทั้งสองด้าน จะทำเป็นเดือยกลม ๆ ไว้ เพื่อเป็นเพลาสอดกับไม้ ที่เจาะรูไว้สำหรับใส่เดือย ตีไม้ยึดหรือทำเดือยใส่ไม้ตั้ง หรือลูกตั้งนั้น ทำไม้คานยาว ๆ สองท่อนยึดกับตัวขุบ แล้วใช้ควายหรือวัวลาก เพื่อใช้งานเรียกว่า ตีขุบ  
การใช้ประโยชน์:การเตรียมดิน  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ขุบ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการย่อยดิน และบดทับวัชพืชให้จมในดิน ซึ่งเป็นการเตรียมดินก่อนปลูกข้าว ของชาวนาโดยมากมักใช้ขุบในแปลงนาที่พึ่งถางใหม่ๆ ที่มีตอไม้ และหญ้าขึ้นอยู่มากๆ โดยชาวนาจะใช้วัว หรือควายในการลากขุบ ซึ่งเฟืองจะทำหน้าที่ย่อยดินในเวลาขุบหมุน โดยขุบจะหมุนตีดินไปเรื่อยๆ จนกว่าดินเหลวได้ที่เหมาะสำหรับเพาะปลูกข้าวได้





       จอบ


ชื่อเครื่องมือ:จอบ  
ชื่อท้องถิ่น:ขอบก ขอจก ขอเชา  
ลักษณะของเครื่องมือ:      จอบ ใช้สำหรับการ ขุดดิน พรวนดิน หรือดายหญ้า มี 2 ส่วน คือ ตัวจอบและด้ามจอบ ตัวจอบทำมาจากเหล็ก หน้าแบน มีรูบ้องสำหรับใส่ด้าม ส่วนด้ามจะทำจากเหล็กหรือไม้ก็ได้ แต่ด้ามที่ทำมาจากเหล็กจะใช้งานได้นานกว่าด้ามที่ทำจากไม้ ซึ่งมีความยาวประมาณ 100-120 เซนติเมตร  
การใช้ประโยชน์:การเตรียมดิน  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      จอบ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการขุดดิน พรวนดิน หรือดายหญ้าได้ ซึ่งหากจอบมีความคมมากก็จะสามารถใช้งานได้สะดวกและเร็วขึ้น การใช้ก็สามารถใช้จอบขุด พรวนดิน หรือดายหญ้าตามที่เราต้องการได้ จอบสามารถนำมาใช้งานได้ตลอดทั้งปี  





    ระหัด


ชื่อเครื่องมือ:ระหัด  
ชื่อท้องถิ่น:ภาคเหนือเรียกว่า หลุก ภาคอีสานเรียกว่า กงพัด  
ลักษณะของเครื่องมือ:      ระหัด ทำด้วยไม้ มีโครงสร้างสี่เหลี่ยมยาว มีลักษณะเป็นรางน้ำทำจากไม้ ใช้มือหมุนหรือใช้ถีบด้วยเท้า ระหัดวิดน้ำอาจมีขนาดสั้นและยาวตามความต้องการของผู้ใช้ และมักทำด้วยไม้สัก ภายในโครงมีรางและลูกระหัดซึ่งเป็นใบพัดฉุดให้น้ำไหลไปตามราง ระหัดประกอบด้วย รางน้ำ ใบระหัด เพลา และมือหมุน  
การใช้ประโยชน์:การปลูก/ระหว่างการเจริญเติบโต  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ระหัด เป็นเครื่องมือชักน้ำหรือวิดน้ำเข้าแปลงนา การใช้ระหัดวิดน้ำมีความสำคัญต่อการทำนาในสมัยก่อนมาก เพราะเมื่อฝนตกชุกน้ำในแม่น้ำลำคลองจะมีระดับสูงขึ้น หากแปลงนาซึ่งทำคันนากั้นไว้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้มากพอสำหรับการเพาะปลูกแล้ว ชาวนาจะใช้ชงโลงหรือระหัดในการวิดน้ำเข้าแปลงนา

      วิธีการใช้ระหัดวิดน้ำจะต้องวางปลายรางระหัดลงไปในน้ำที่จะวิดเข้าสู่แปลงนา ให้ด้านหัวรางอยู่บนที่ซึ่งจะนำน้ำเข้าสู่แปลงนา อาจมีรางรับน้ำต่อไปยังที่ที่ต้องการน้ำเข้าอีกทอดหนึ่ง ต้องวางรางระหัดไม่ให้ตั้งชันมากเกินไปจึงจะวิดน้ำได้ดี ในสมัยโบราณจะใช้แรงคนถีบหรือมือหมุนหรือแรงจากกังหันลม
 





     ไม้หาบกล้า /คานหลาว


ชื่อเครื่องมือ:ไม้หาบกล้า /คานหลาว  
ชื่อท้องถิ่น:-  
ลักษณะของเครื่องมือ:      ไม้หาบกล้า หรือคันหลาว เป็นเครื่องมือที่นิยมทำมาจากไม้ไผ่ มีความยาวประมาณ 2 เมตร บริเวณหัวและท้ายไม้คานถูกหลาวเสี้ยมให้ปลายแหลม เพื่อใช้แทงกำกล้า หรือ ฟ่อนข้าว โดยชาวบ้านจะนำไม้ไผ่ผึ่งแดดให้แห้งเหลาไม้ไผ่ให้เรียบไม่มีเสี้ยน จากนั้นจะใช้มีดเสี้ยมปลายไม้ไผ่ทั้งสองข้าง ตรงส่วนล่างที่ตอกมัดข้าว หรือบางแห่งใช้ต้นข้าว มัดขมวดไว้ไม่ให้หลุด ซึ่งเรียกว่า เขน็ดข้าว  
การใช้ประโยชน์:การปลูก/ระหว่างการเจริญเติบโต  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับหาบต้นกล้าเพื่อนำไปปักดำ หรือใช้หาบฟ่อนข้าวไปที่กองข้าวเพื่อจะใช้เกวียนหรือรถบรรทุกฟ่อนข้าวไปลานนวด โดยวิธีการใช้ให้นำคานหลาวเสียบตรงกลางกำกล้า หรือฟ่อนข้าวเพื่อใช้หาบ ซึ่งถ้าหากใช้กระบุงจะหาบได้ครั้งละไม่กี่ฟ่อน การใช้ไม้คานหลาวจึงมีความเหมาะสมมากกว่าเพราะสามารถหาบได้ทีละหลายๆ ฟ่อน





    ชงโลง


ชื่อเครื่องมือ:ชงโลง  
ชื่อท้องถิ่น:คันโซ้ หรือ โซงโลง ภาคอีสานเรียกว่ากระโซ้ ภาคใต้เรียกว่า โพง ภาคเหนือเรียกว่า กระโจ้  
ลักษณะของเครื่องมือ:       ชงโลง มีลักษณะคล้ายเรือครึ่งท่อน แต่ขนาดเล็กกว่ามาก มีด้ามยาว 1-2 เมตร ทำมาจากวัสดุได้หลากหลาย คือไม้ไผ่ เหล็ก หรือสังกะสี แต่ถ้าทำมาจากไม้ไผ่ ชาวบ้าวจะนำไม้ไผ่มาทำเป็นตอก แล้วจักสานเป็นลาย แล้วทาน้ำมันยาง ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานได้ 2-3 ปี ที่ปลายขอบจะเหลาไม้ไผ่หนา ประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วใช้ไม้ไผ่ประกบตอก ที่สานในส่วนปลายขอบ เพื่อให้มีความคงทนถาวรไม่หลุดลุ่ยได้ง่าย ไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับประกบนั้น จะมัดด้วยหวาย จากนั้นก็นำด้ามมาติด ในส่วนตรงปากของชงโลง เวลาโพงน้ำหรือวิดน้ำจะจับด้ามชงโลง ตักน้ำสาดไปข้างหน้า  
การใช้ประโยชน์:การปลูก/ระหว่างการเจริญเติบโต  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ชงโลง เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิด หรือโพงน้ำเข้านา หรือวิดน้ำในนาให้งวด เพื่อไม่ให้ต้นข้าวหรือต้นกล้าจมน้ำตาย การใช้ชงโลงให้ใช้มือหนึ่งจับด้ามเหนือตัว มืออีกข้างหนึ่งจับด้ามชงโลงด้ามปลาย แล้วใช้ปากชงโลงตักลงไปในน้ำ วิดส่งน้ำไปตามทิศทางที่ต้องการ





        เคียว


ชื่อเครื่องมือ:เคียว  
ชื่อท้องถิ่น:ภาคใต้ เรียกว่า เดียว  
ลักษณะของเครื่องมือ:      เคียว มีใช้ในทุกภาค แต่ลักษณะอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น โดยทั่วไปเคียวจะทำด้วยเหล็ก มีด้ามจับสำหรับถือ ใบเคียวแบนเรียวโค้งคล้ายตะขอ หรือวงเดือนเสี้ยวมีคมอยู่ด้านใน ด้ามเคียวอาจเป็นเหล็กหรือเป็นไม้ก็ได้ มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตามกำลังของผู้ใช้ ซึ่งเคียวที่ใช้กันทั่วไปมี 2 ชนิด คือ เคียวนาสวน เป็นเคียววงกว้าง ใช้เกี่ยวทั้งข้าวนาสวนและข้าวนาเมือง และ เคียวนาเมือง เป็นเคียววงแคบ ใช้เกี่ยวได้เฉพาะข้าวนาเมือง เคียวมีหลายลักษณะเช่น
  • เคียวกระสา รูปเคียวโค้งเป็นวงกว้างเหมือนคอนกกระสา
  • เคียวกระยาง รูปเคียวโค้งเป็นวงแคบกว่าเคียวกระสา เหมือนคอนกกระยาง
  • เคียวงู ปลายเคียวเหมือนหัวงู วงเคียวแคบกว่าเคียวกระยาง มีคอคอดตรงคอ
  • เคียวขอ บางทีเรียกว่ากรูด จะใช้กิ่งไม้เนื้อแข็งถากและเหลาให้เรียบ ให้ส่วนที่เป็นขอมีความโค้งเป็นวงกว้างมาก เสี้ยมปลายให้แหลม
การใช้ประโยชน์:การเก็บเกี่ยว  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      เคียว เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับเก็บเกี่ยวพืชผลประเภทข้าว หญ้า และธัญพืช โดยชาวนาจะใช้เคียวเกี่ยวไปที่ฐานของต้นข้าวแล้วทำการกระตุกคมเคียวบาดจนขาด ส่วนมืออีกข้างใช้กำรวงข้าวที่ต้องการเกี่ยว โดยนำข้าวที่ตัดแล้วรวมไว้เป็นกองไว้ เคียวแบบด้ามสั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานเนื่องจากต้องยืนก้มอยู่ตลอด จึงมีเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งคือเคียวด้ามยาวซึ่งมีด้ามจับยาวกว่าและไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง




   

     แกระ/แกะ


ชื่อเครื่องมือ:แกระ/แกะ  
ชื่อท้องถิ่น:ภาคเหนือ เรียกว่า หวู  
ลักษณะของเครื่องมือ:      เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเกี่ยวข้าวของภาคใต้ ทำมาจากเหล็กและไม้ ซึ่งมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ
  1. ตาแกระหรือคมแกระ ทำด้วยเหล็ก มีลักษณะเป็นใบมีดยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตรฝังอยู่ในกระดานแกระหรือตัวแกระ
  2. กระดานแกระ หรือตัวแกระ ทำด้วยไม้บางๆ รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านแคบฝังแผ่นเหล็กมีคมเหมือนใบมีดเพื่อใช้ตัดรวงข้าว
  3. ด้ามแกระ ทำด้วยปล้องไม้ไผ่ขนาดเท่านิ้วมือ เสียบขวางกับกระดานแกระตามรอยที่เจาะไว้
การใช้ประโยชน์:การเก็บเกี่ยว  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      แกระ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเกี่ยวข้าว เหมาะสำหรับพันธุ์ข้าวที่คอรวงยาว การใช้แกระเกี่ยวข้าว ทำให้สามารถการเลือกเกี่ยวเฉพาะต้น หรือเฉพาะรวงข้าวได้ โดยชาวนาจะจับแกระไว้ในอุ้งมือ จากนั้นดึงรวงข้าว ให้ทาบกับคมแกระ กระตุกคมแกระบาดรวงข้าวจนขาด และมืออีกข้าง ใช้กำรวงข้าวที่ตัดแล้ว แกระใช้ตัดรวงข้าวทีละรวง และนำมารวมกันไว้เป็นกองๆ สำหรับมัดเป็นฟ่อนต่อไป การเกี่ยวข้าวด้วยแกระ อาจจะช้ากว่าเคียว แต่สามารถเกี่ยวรวงข้าว ได้หมดดีกว่าเคียว




  กระด้ง


ชื่อเครื่องมือ:กระด้ง  
ชื่อท้องถิ่น:ภาคเหนือเรียกว่า ด้ง  
ลักษณะของเครื่องมือ:      กระด้ง ทำมาจากไม้ไผ่โดยการทำเป็นตอกแล้วเอามาจักสาน ลักษณะแบนกลม มีขอบสูงขึ้นมาเล็กน้อย เรียกว่า ขอบกระด้ง มีหลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ กระด้งนอกจากจะใช้แยกเปลือกกับเมล็ดแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น ใช้ตากปลา ใช้รองสำรับข้าว หรืออื่นๆ ตามแต่ผู้ใช้จะนำไปใช้  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      กระด้ง เป็นภาชนะใช้สำหรับฝัดข้าวเพื่อแยกเอาเศษผงฝุ่น แกลบ ออกจากเมล็ดข้าว หรือเมล็ดพันธุ์ชนิดอื่นที่มีเปลือก ซึ่งเป็นการคัดแยกระหว่างข้าว หรือเมล็ด และเปลือกออกจากกัน โดยชาวนาจะนำข้าวที่ตำแล้ว วางใส่ไว้ในกระด้งและทำการฝัดโดยใช้มือทั้งสองข้างจับขอบปากกระด้ง แล้วทำการร่อน โดยให้กระด้งขึ้นลงเพื่อฟัดเศษหรือเปลือกข้าวก็จะปลิวตามแรงลม เนื่องจากน้ำหนักเบามาก จะได้เมล็ดที่มีน้ำหนักหล่นที่กระด้ง




       กระบุง


ชื่อเครื่องมือ:กระบุง  
ชื่อท้องถิ่น:ภาคเหนือเรียกว่า บุง หรือ เพียด  
ลักษณะของเครื่องมือ:       กระบุง เป็นภาชนะที่จักสานด้วยไม้ไผ่เป็นลวดลายต่างๆ ใช้สำหรับใส่ข้าว ข้าวโพด ถั่วงา ใช้ตวงหรือโกย และใส่ของอื่นๆ ปากมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก้นมีรูปทรงสี่เหลี่ยม และมีหูห้อยตรงปากกระบุง 2 ข้างเอาไว้สำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้หาบ หรือหิ้ว ขนาดของกระบุงโดยทั่วไปแล้วจะมีอยู่ สามขนาด รูปทรงจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการใช้งาน กระบุงขนาดใหญ่มีหูร้อยเชือกเพื่อใช้หาบ ขนาดกลางใช้ในการตวงหรือโกย และกระบุงขนาดเล็กจะใช้สำหรับงานเบ็ดเตล็ดทั่วๆ ไป  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      กระบุง เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตักตวงหรือโกย ข้าว เมล็ดพืช และใส่สิ่งของอื่นๆ ทั้งนี้การใช้ขึ้นอยู่กับขนาดของกระบุงด้วย ซึ่งหากเป็นกระบุงขนาดใหญ่จะใช้สำหรับในการหาบข้าว หรือเมล็ดพืชต่างๆ ถ้าเป็นขนาดกลางจะใช้สำหรับในการตวง หรือโกยข้าว แต่ถ้าหากเป็นกระบุงขนาดเล็กจะนิยมมาใส่ของเบ็ดเตล็ด กระบุงสามารถใช้งานได้ประมาณ 2-4 ปี และนิยมทำกันในท้องถิ่น





    ครกกระเดื่อง

ชื่อเครื่องมือ:ครกกระเดื่อง  
ชื่อท้องถิ่น:ภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า ครกมอง ภาคใต้เรียกว่า ครกถีบ หรือครกเหยียบ หรือครกเดื้อง  
ลักษณะของเครื่องมือ:      เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตำข้าว ที่ชาวบ้านนิยมใช้ในอดีต เพราะทุ่นแรงได้มากกว่า การตำด้วยมือ ครกกระเดื่องมีรูปร่างคล้ายกระดานหก ที่นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างหนึ่ง เพราะผู้ทำต้องคำนึงถึงจุดหมุน และน้ำหนักของสากที่สมดุลกันด้วย ครกกระเดื่องมีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วนคือ “ตัวครก” ทำมาจากขอนไม้เนื้อแข็ง ทนต่อแรงกระแทก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50-100 เซนติเมตร สูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร ขุดตรงกลางเป็นเบ้าลึกลงไป เพื่อให้สามารถใส่เมล็ดข้าวได้ “คันกระเดื่อง” ทำด้วยไม้ท่อนตรง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 3-4 เมตร ทำหน้าที่เป็นไม้กระดกตำ ปลายด้านหนึ่งเจาะเป็นรูสำหรับเสียบสาก ปลายอีกด้านวัดเข้ามาประมาณ 2 ฟุต เจาะรูให้ทะลุ สำหรับสอดคานขวางคันกระเดื่อง “เสา” มี 2 ต้น ทำด้วยไม้เนื้อแข็งฝังลงในดินตั้ง เป็นคู่ในแนวเดียวกัน เจาะรูเสาแต่ละต้นเหนือระดับพื้นดิน เพื่อสอดคานขวางคันกระเดื่อง เป็นจุดหมุนเพื่อการกระดก “สาก” ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เกลาให้กลม ขนาดพอเหมาะกับคันกระเดื่อง และตัวครก เสียบเข้าที่ปลายคันกระเดื่อง ด้านที่เจาะรูไว้  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ใช้สำหรับใช้ตำข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสาร โดยผู้ตำจะขุดหลุมตื้นๆ บริเวณปลายคันกระเดื่อง ด้านที่ใช้เท้าเหยียบไว้ เมื่อเหยียบที่โคนของคันกระเดื่อง กดลงในหลุม ปลายอีกด้านของคันกระเดื่องก็จะยกตัวขึ้น ทำให้สากซึ่งติดอยู่ ลอยสูงขึ้นไปด้วย เมื่อผู้ตำปล่อยเท้า สากก็จะตกไปตำเมล็ดข้าวเปลือก ที่อยู่ในครก การตำข้าวด้วยครกกระเดื่องนี้จะต้องมีผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง คอยช่วยตะล่อมให้ข้าวรวมกันอยู่ตรงกลาง หรือก้นหลุมครกเพื่อให้สากตำข้าวได้ทั่วถึง




     ครกมือ


ชื่อเครื่องมือ:ครกมือ  
ชื่อท้องถิ่น:ครกตำข้าว  
ลักษณะของเครื่องมือ:      ครกมือ ทำจากไม้ใช้สำหรับตำ ครกมือมีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ตัวครก และสากสำหรับตำ ตัวครกทำมาจากท่อนไม้ที่มีเนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง เป็นต้น แล้วตัดส่วนหัวและส่วนท้ายให้ผิวเรียบเสมอกัน เพื่อเวลานำครกตั้งไว้จะได้ไม่กระดกเอียงไปมา จากนั้นก็จะทำการเจาะส่วนตรงกลางด้านบนของท่อนไม้ให้เว้าลึกลงไปเหมือนครกหิน โดยใช้ขวานโยนฟันและค่อยตกแต่งไปเรื่อยๆ จนปากครกกว้าง ก้นครกลึกสอบเข้าเป็นหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เมื่อทำครกเสร็จจึงทำสากโดยใช้ไม้ท่อนเดียว ยาวประมาณ 1.5- 2 เมตร เหลาปลายกลมทั้งสองข้าง ส่วนกลางเหลาเว้าให้คอดกิ่วตรงกลาง เพื่อเป็นมือจับปลายสากที่ใช้สำหรับตำข้าว  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ครกมือ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตำข้าวเปลือก ขั้นแรกให้นำข้าวเปลือกที่ต้องการใส่ลงไปในครกพอประมาณ หลังจากนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ตำข้าวจะยืนข้างๆ ครก ใช้มือทั้ง 2 ข้างจับที่กึ่งกลางสาก ยกสากขึ้นแล้วทิ่มลงไปในครก ให้สากไปกระแทกข้าวเปลือก ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าเปลือกข้าวจะหลุดออกหมด





   ครุ


ชื่อเครื่องมือ:ครุ  
ชื่อท้องถิ่น:แอ่ว  
ลักษณะของเครื่องมือ:      ครุ ทำด้วยไม้ไผ่ มีรูปร่างคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ รูปทรงกระบอก ปากกลม ก้นสอบ ปากมีความกว้างประมาณ 2 -3 เมตร ส่วนก้นกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ในการสานครุชาวบ้าน จะนำส่วนผิวของไม้ไผ่ มาจักให้เป็นตอกที่มีความกว้างประมาณ 1 นิ้วก่อน หลังจากนั้นก็จะนำมาสาน ให้เข้ารูปตามต้องการแล้วนำไปรมควันไฟ เพื่อให้ตอกอ่อน แล้วนำไปวางไว้ในหลุมที่ขุดไว้ เพื่อเป็นแม่พิมพ์ในการสาน แล้วขึ้นไปเหยียบ ให้บริเวณศูนย์กลางนูนขึ้นมาจึงเริ่มสานจากตรงกลางก่อน ในการสานใช้คนประมาณ 4-5 คน เมื่อสานเสร็จแล้วจะต้องเข้าขอบผูกหวาย ให้ขอบแน่นและคงทน จากนั้นจึงนำครุไปรมควันไฟกันมอด ก่อนนำไปใช้  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ครุ เป็นภาชนะใช้รองรับข้าวเปลือกจากการนวดข้าว ชาวนาจะใช้ไม้หนีบข้าว ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ สองท่อน ยาวประมาณ 1 ศอก หนีบรวงข้าวที่มัดไว้เป็นกำเล็กๆ แล้วใช้ฟาดข้าวลงบนครุ ซึ่งจะใช้คนตี 2-3 คน การตีครุจะได้ข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ตกหล่นเหมือนกับการนวดข้าวด้วยวิธีอื่น หลังจากใช้งานเสร็จแล้ว การเก็บครุจะวางหรือแขวนครุให้ปากครุคว่ำลง เพื่อรักษารูปทรงของครุไว้  





   ม้ารองนวดข้าว


ชื่อเครื่องมือ:ม้ารองนวดข้าว  
ชื่อท้องถิ่น:ไม้รองตีข้าว  
ลักษณะของเครื่องมือ:      เป็นแผ่นกระดานยาวประมาณ 2 ศอก มีขา 2 ขา ตั้งเอียงเล็กน้อยเพื่อรับฟ่อนข้าวขณะทำการตี หรือฟาดข้าว ในขั้นตอนการนวดข้าว  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ใช้สำหรับรองรับฟ่อนข้าว ในขณะที่ตี หรือฟาดข้าว เพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดร่วงลงบนพื้นลาน หลังจากทำการตีไปสักระยะหนึ่งจนเมล็ดข้าวร่วงหล่นเป็นกองสูง ชาวนาจะตี หรือฟาดข้าวลงบนกองข้าวโดยตรงไม่ต้องใช้ม้ารองนวดข้าว





  ไม้หนีบข้าว


ชื่อเครื่องมือ:ไม้หนีบข้าว  
ชื่อท้องถิ่น:ไม้ตีข้าว ไม้ฟาดข้าว ภาคอีสานเรียกว่า ค้อนฟาดข้าว หรือไม้ตีหัว ภาคเหนือเรียกว่า ไม้หีบ หรือไม้ตาหีบ  
ลักษณะของเครื่องมือ:      ใช้สำหรับหนีบ หรือคีบฟ่อนข้าว ทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือไม้ไผ่ มี 2 ท่อน ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร มีเชือกโยงทั้ง 2 ท่อนเข้าด้วยกัน การทำไม้หนีบข้าวจะต้องทำการเหลาไม้ให้กลมก่อน โดยที่ด้านปลายจะเหลาให้เรียวเล็กกว่าด้านโคนเล็กน้อย และด้านปลายของไม้ทั้งสองท่อน จะบากให้เป็นหยักหรือเดือย สำหรับผูกเชือกไม่ให้หลุดง่าย โดยไม้ท่อนหนึ่งจะบากให้ห่างจากปลายประมาณ 15 เซนติเมตร อีกท่อนหนึ่งบากให้ห่างจากปลายประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วใช้เชือกที่มีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ผูกที่ปลายไม้ทั้งสองให้ติดกัน สำหรับรัดฟ่อนข้าว  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      ใช้สำหรับการนวดข้าว วิธีการใช้ ให้จับที่ไม้หนีบข้าวด้วยมือข้างละท่อน แล้วใช้เชือกที่ปลายไม้ รัดฟ่อนข้าวให้อยู่ระหว่างเชือก ให้ปลายไม้ขัดกันจนเชือกรัดฟ่อนข้าวแน่น จากนั้นยกฟ่อนข้าว ฟาดขึ้น-ลง บนแผ่นไม้รองตีข้าว หรือบนกองข้าว จนเมล็ดข้าวหลุดจากรวงหมด ไม้หนีบสามารถใช้ได้นานประมาณ 2-5 ปี หรือมากกว่านี้  




   เกวียน


ชื่อเครื่องมือ:เกวียน  
ชื่อท้องถิ่น:กระแทะ  
ลักษณะของเครื่องมือ:      เกวียน เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่ง แต่ละท้องถิ่นจะมีรูปร่าง และขนาดที่แตกต่างกันไป เกวียนทำจากไม้เนื้อแข็ง มีล้อ 2 ล้อ และตัวเรือนมีลักษณะ เป็นแคร่สี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับบรรทุกสิ่งของหรือคน โดยจะยกขอบด้านข้างทั้ง 2 ข้างสูง ใช้ไม้กระดานปูพื้น บ้างก็มีประทุนครอบกันแดดฝน ให้แก่ผู้ขับและผู้โดยสารหรือสิ่งของที่บรรทุก เกวียนมี 2 แบบคือ เกวียนเดี่ยว (ใช้วัวหรือควายตัวเดียว) กับเกวียนคู่ (ใช้วัวหรือควาย 2 ตัว ) การทำเกวียนทำโดยไม่ต้องใช้ตะปู ใช้วิธีการขัดกันและเชือกผูกเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแอกซึ่งก็คือ ไม้ที่ใช้พาดคอสัตว์เพื่อเทียมเกวียน มีสายรั้งคอสัตว์เพื่อป้องกันเชือก ที่ผูกคอสัตว์ไม่ให้หลุดจากปลายแอก  
การใช้ประโยชน์:หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา  
อธิบายการใช้ประโยชน์:      เกวียน เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกับเกษตรกรไทย สมัยก่อนมาก ใช้ขนส่งทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว โดยใช้ควายหรือวัวลาก การบังคับวัวหรือควายเทียมเกวียน จะใช้วิธีเจาะจมูกร้อยสายตะพายโยง ไปที่ผู้ขับบนเกวียนถือสำหรับบังคับให้วัว หรือควายหยุดเดินหรือเลี้ยว ในการบังคับวัวหรือควายนั้น มีภาษาชาวนาหรือชาวเกวียนที่ใช้กับวัวหรือควายอยู่ 2 - 3 คำคือคำว่า "ทูน" แปลว่า ชิดข้างใน "ถัด" แปลว่าชิดข้างนอก "ยอ" แปลว่า หยุด เป็นต้น



อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำนาแบบสมัยใหม่

มีดังต่อไปนี้

1.  เครื่องมือในการเตรียมดิน


รถไถนา ใช้ทั้งเตรียมดินนาหว่าน นาดำ และคราด



รถแทรคเตอร์ เครื่องเตรียมดิน ทำนา ทำสวน ทำไร่หรือหักร้างถางพง




เครื่องปักดำ ใช้แทนการปักดำด้วยแรงงานคน เครื่องมือชนิดนี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก




เครื่องสูบน้ำ ใช้สูบน้ำเข้านาโดยใช้เครื่องยนต์หรือไฟฟ้าเป็นแรงหมุนมอเตอร์สูบ จากแม่น้ำ คลองชลประทานเข้ามาใช้ในนา



2. เครื่องมือเกี่ยวข้าว


รถเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ใช้สำหรับเกี่ยวและนวดข้าวไปพร้อมๆ กันเป็นรถแบบตีนตะขาบวิ่งได้ในนาที่มีพื้นที่เรียบ





เครื่องนวดข้าว ใช้เครื่องยนต์ในการนวดข้าวให้ย่อยจากรวงเป็นเมล็ดข้าวเปลือก เมื่อต้องการนวดข้าวก็เอาเครื่องยนต์จากรถไถนาเดิมมาหมุนตามเครื่องนวดและ สามารถใช้กระสอบ หรือผืนผ้าใบมารองรับเมล็ดจากเครื่อง



3. เครื่องมือในการแปรรูปข้าว



เครื่องสีข้าว ใช้สำหรับสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร ออกมาเป็นแกลบและรำ





อุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกพืชผักและตกแต่งสวน

มีดังต่อไปนี้


     1.  ช้อนและส้อมพรวน



  ช้อนและส้อมพรวน

        ใช้ในการพรวนดิน เหมาะกับดินที่ร่วนซุย เนื่องจากส้อมพรวนไม่ใช่อุปกรณ์เกษตรประเภทใช้งานหนัก เมื่อใช้แล้วควรล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้งแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อกันสนิม





      2.  เสียม


เสียม

         ใช้ในการขุดหลุมเตรียมเพื่อปลูกต้นไม้ เหมาะในการขุดหลุมขนาดเล็ก เมื่อใช้แล้วควรล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้งแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อกันสนิม เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย



    3.  พลั่ว



   พลั่ว

      ใช้ในการตักดิน ตักปุ๋ย หรือขุดหลุมขนาดเล็ก ๆ ไม่ลึก เมื่อใช้แล้วควรล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้งแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อกันสนิม เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย

 

   4.  คราด


 คราด

     ใช้ในการย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก ๆ และใช้เก็บเศษหญ้าบนหน้าดิน เมื่อใช้แล้วควรล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้งแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อกันสนิม เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย

 

 

   5.  บัวรดน้ำ

 

 บัวรดน้ำ

     ใช้ในการรดน้ำเหมาะกับต้นกล้าหรือต้นไม้ที่มีขนาดเล็กลำต้นอ่อน น้ำที่ออกจากฝักบัวจะเป็นสายขนาดเล็ก ช่วยให้น้ำกับพืชได้ทั่วถึงและต้นไม้ไม่บอบช้ำ เมื่อใช้แล้วล้างทำความสะอาดเก็บเศษหญ้าออกจากบัวรดน้ำเพื่อไม่ให้อุดตันฝักบัวเมื่อนำไปใช้รดน้ำครั้งต่อไป

 

 

 6. จอบ



จอบ

           เป็นอุปกรณ์สำคัญในการเริ่มจัดสวน มีทั้งจอบสำหรับขุดและจอบสำหรับถาก ซึ่งต่างกันที่
   ลักษณะของหน้าจอบ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน
- จอบขุด หน้าจอบจะโค้งเว้า เหมาะสำหรับขุดหลุมปลูกต้นไม้
- จอบถาก หน้าจอบจะเป็นแนวตรง เหมาะสำหรับใช้ในการย่อยดิน ถากหญ้า หรือปรับระดับพื้นให้เรียบ

 

 7.  บุ้งกี๋




บุ้งกี๋

      เป็นอุปกรณ์สำหรับขนดิน ปุ๋ย เศษวัชพืช และขยะต่างๆ ในสวน ควรเลือกที่มีน้ำหนักเบา เพื่อง่ายต่อการขนย้าย



 

 8.  กรรไกรตัดแต่ง

 
  


กรรไกรตัดแต่ง

    เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตัดแต่งกิ่งไม้ที่รกเกินไป มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม

 

 9.  เครื่องตัดหญ้า




เครื่องตัดหญ้า

   มีหลายแบบให้เลือกใช้ ในกรณีพื้นที่แคบอาจใช้เครื่องตัดหญ้าขนาดเล็ก หากเป็นสนามหญ้า
กว้างๆควรใช้รถตัดหญ้า เพื่อความสะดวก หรือพื้นที่ที่เป็นเนินไม่เรียบอาจใช้กรรไกรตัดหญ้าจะสะดวกกว่า